ความต้านทานของระบบพัดลมอุตสาหกรรม

พัดลมอุตสาหกรรม แต่ละชนิดจะมีเส้นกราฟแสดงคุณลักษณะระหว่างความดันสถิต (static pressure) หรือ ความดันรวม (total pressure) และปริมาตรการไหลของอากาศ (volume flow) เฉพาะตัวสำหรับพัดลมชนิดนั้น เรียกว่า fan characteristic curve หรือเรียกย่อๆว่า fan curve ส่วนระบบการไหลของอากาศ (airflow system) ซึ่งประกอบไปด้วย พัดลม และอุปกรณ์หลายๆอย่าง เช่น ท่อ ข้องอ ส่วนขยาย (expanding) ขดร้อน ขดเย็น ตะแกรง ตัวป้องกัน ช่องลม บานเกล็ด ตัวควบคุมอากาศ เป็นต้น โดย อุปกรณ์แต่ละอย่างก็จะก่อให้เกิดความต้านทาน (resistance) ต่อการไหลของอากาศ พัดลมอุตสาหกรรม จึงต้องสร้างความดันสถิตที่จะเอาชนะความต้านทานเหล่านี้ ความต้านทานทั้งหมดที่เกิดขึ้นเรียกว่า system resistance หรือ resistance pressure และความดันสถิตที่พัดลมอุตสาหกรรม สร้างขึ้นอย่างน้อยต้องเท่ากับ resistance pressure ที่เกิดขึ้น

ระบบการไหลของอากาศ (airflow system) ก็จะมีเส้นกราฟเฉพาะ (characteristic curve) ระหว่างความดันของความต้านทาน (resistance pressure) กับปริมาตรการไหลของอากาศ (volume flow) ซึ่งแสดงถึงปริมาณความดันสถิตที่ต้องการเพื่อขับดันให้อากาศไหลผ่านระบบไปได้ เรียกว่า system characteristic curve หรือเรียกย่อๆว่า system curve และถ้าเรารวม fan curve และ system curve มาไว้บนกราฟแผ่นเดียวกัน ตามปกติจะเกิดจุดตัดของเส้นกราฟทั้งสองซึ่งทำให้ทั้งพัดลมอุตสาหกรรม และระบบการไหลของอากาศทำงานได้ดี เรียกว่า point of operation

โดยทั่วไปแล้วการไหลของอากาศผ่านระบบต่างๆจะเป็นแบบปั่นป่วน (turbulence) มาก ความดันของความต้านทานของระบบจึงมักแปรเปลี่ยนกับปริมาตรการไหลยกกำลังสอง หรือเป็นเส้นกราฟพาราโบลา (parabola) ผ่านจุดเริ่มต้น (origin) ตามรูปเป็นกราฟระหว่างความดันสถิตและกำลังงานที่ใช้กับปริมาตรการไหล และกราฟความดันของความต้านทานของระบบกับปริมาตรการไหล กราฟทั้งสองตัดกันที่จุด working pressure และ working power ตามลำดับ ซึ่งใช้สำหรับออกแบบค่าความดันสถิตและกำลังงานของพัดลม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทำงานของระบบมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงต้องมีการเผื่อค่าความดัน (pressure safety margin) เพิ่มขึ้นราว 30-50% เพราะถ้าเผื่อค่าความดันน้อยเกินไป พัดลมโดยเฉพาะพัดลมแบบไหลตามแนวแกนก็มีโอกาสที่จะทำงานในช่วง stalling ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศไหลผ่านใบพัดแยกตัวออกจากใบหรือเกิด separation ขึ้น แต่ถ้าเผื่อค่าความดันมากเกินไป กำลังงานของมอเตอร์ก็จะมากเกินไปทำให้ต้นทุนเครื่องจักรสูงเกินไป การเผื่อค่าความดันเพิ่มขึ้นราว 30-50% จึงเป็นการเหมาะสมในแง่การป้องกันความเสี่ยงและการลงทุนมากเกินเหตุ

 

 

 

This entry was posted in สินค้า and tagged , . Bookmark the permalink.

Comments are closed.